การทำบุญ
ปุจฉา การทำบุญนั้น หมายความถึงการทำอะไร หรือ อีกนัยหนึ่งนั้น คืออะไร และบุญนั้นอยู่ที่ไหน เก็บไว้อย่างไร และแสดงออกได้อย่างไร
วิสัชนา การทำบุญคืออะไร การทำบุญนั้นตามสามัญสำนึก ก็หมายถึง การทำความดีทุกอย่างที่บุคคลได้กระทำลงไป โดยมีเหตุ คือการทำความดี เกิดผลดี คือความสุขจากการทำความดี แต่แล้วคำถามต่อไปก็จะมีอีกว่า ความดีของใคร หรือความดีของคนพวกไหน ทั้งนี้ เพราะปรากฏว่า สิ่งที่เขาว่า เขาทำความดี แต่อาจไม่ใช่ความดีในความหมายของเราก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น บางศาสนาเขาฆ่าสัตว์เพื่อบูชาผู้ยิ่งใหญ่ในสรวงสวรรค์ของเขาเป็นความดี แต่เราว่า เป็นการผิดศีลข้อหนึ่งของเราก็คือ การฆ่าสัตว์ พวกฝรั่งเวลากินอาหารแสดงความยินดี เขาก็ดื่มเหล้ากัน หรือในพิธีศาสนาบางเวลาเขาก็ดื่มเหล้าองุ่นกัน แต่เราว่าผิดศีลข้อ ๕ พวกฝรั่งในสวีเดนหรือประเทศอื่น เขาไม่ถือในเรื่องการสำส่อนทางเพศ มีการแลกคู่ผัวเมียกันได้ อย่างนี้เราถือว่าผิดศีลข้อ ๓ ของเรา ดังนั้น เราจึงต้องกล่าวเพิ่มเติมถึงความหมายของการทำบุญของเราด้วยว่า “การทำบุญ คือ การทำความดีชนิดที่ทำลายความเห็นแก่ตัวและสันดานไม่ดีของตนเอง และเพื่อละกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ออกจากตน”
คำอธิบายเพิ่มเติม ตามธรรมดาสันดานของมนุษย์ปุถุชนธรรมดาจะมีกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ อยู่เสมอ และชอบทำความไม่ดีอยู่เป็นประจำที่เห็นได้ง่าย ๆ ก็คือ การยิ่งนกตกปลาของเด็กวัยรุ่น หรือผู้ใหญ่ที่มีนิสัยชอบโดยสารเครื่องบินต่าง ๆ เมื่อมีการเสริฟอาหารเช้า กลางวัน หรือเย็น มักจะถือโอกาสแหนบเอาช้อนหรือซ่อม หรือมีดเล็ก ๆ ในถาดอาหารไปเสมอ เพราะมันสวยดี กะทัดรัดดี หรือไปอยู่ตามโรงแรมต่าง ๆ ก็หยิบผ้าเช็ดตัว ที่เขี่ยบุหรี่หรือแก้วน้ำเล็ก ๆ ไปเสมอ ทั้ง ๆ ที่ท่านเหล่านั้นมีฐานะดี แต่ความโลภอยากได้มันฝังลึกอยู่ในใจ จึงอดไม่ได้เมื่อมีโอกาส (เมื่อเอาไปบ้านแล้วก็ไม่ได้ใช้เลย เนื่องจากตนเองมีอยู่มากแล้วเป็นต้น) พวกพ่อค้าแม่ขายมักจะพูดโกหกเป็นประจำ เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดา เช่นว่า “ไม่ได้หรอกค่ะ ราคานี้ขาดทุน” (แต่ความจริงนั้นกำไรน้อยไปหน่อย พูดเท็จเสียเคยตัว)
การที่มีการกระทำความไม่ดีดังกล่าวนั้น เป็นไปตามธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีอนุสัยกิเลสชนิดละเอียดซ่อนอยู่มิดชิดในใจ และฝังลึกอยู่ในสันดาน และคนก็ปล่อยตามใจตนเอง ขาดความยั้งคิด เหมือนพายเรือตามน้ำ ไม่ต้องออกแรง เรือก็ลอยไปได้ การทำความดีนั้นเหมือนพายเรือทวนน้ำ ต้องออกแรง ต้องใช้แรง เรือจึงจะเคลื่อนที่ฝ่ากระแสน้ำขึ้นไปได้ อาจกล่าวได้ว่า การทำความดีนั้นต้องออกแรงทั้งสิ้น จึงจะสำเร็จไปได้ เป็นการออกแรงทางกาย ทางวาจา หรือทางใจก็ได้ ตัวอย่าง การทำความดีชนิดที่ทำลายความเห็นแก่ตัวละ โลภะ โทสะ โมหะ ได้แก่การถือศีล ๕ เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ และดื่มสุราเมรัย เหล่านี้เป็นการทำความดีในพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ดี คำถามต่อไปมีอีกว่า การนั่งสมาธิทางธรรมะนั้น เป็นการทำความดีหรือไม่ ตอบได้ว่า เป็นการทำความดีของเรา เพราะตามธรรมดาคนเราจะเห็นแก่ตัว อยากจะนอนร่ำไป การนั่งสมาธิเป็นการฝืนความรู้สึกอยากนอน อยากสบาย ฝืนความขี้เกียจของตนเอง ตั้งใจทำเพื่อให้จิตใจสงบ ก็เป็นการทำความดีของเราอย่างหนึ่ง
คนเรานี้จิตใจมักจะไหลไปตามสันดานอกุศล จึงได้เบียดเบียนกันมาก เห็นแก่ตัวเอาเปรียบผู้อื่น คิดเอาแต่ประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง ผู้อื่นจะเดือดร้อนอย่างไรก็ช่าง ขอให้ตนเองได้สมปรารถนากับสิ่งที่ตนอยากได้ก็แล้วกัน ท่านที่ขับรถยนต์เองในท้องถนน จะเห็นความเห็นแก่ตัวของคนขับรถยนต์ต่าง ๆ อย่างชัดเจน เห็นสันดานของคนว่าเป็นอย่างไร
ตัวบุญอยู่ที่ไหน เก็บไว้อย่างไร และแสดงออกได้อย่างไร ?
ตัวบุญ หรือ ความดี นี้เป็นนามธรรม มีและเก็บไว้ที่จิตใจของเราเมื่อคนนั้นได้ทำบุญกุศล ซึ่งเป็นความดี ความดีนั้นได้รับการบันทึกโดยสัญญาเจตสิก และเก็บไว้ที่จิต (ความดีไม่ได้เก็บไว้ที่สมอง เพราะสมองเป็นศูนย์ประสาท เป็นสสารและพลังงาน เป็นวัตถุ เป็นรูปธรรม ย่อมจะมีความรู้สึกนึกคิด เห็น ได้ยิน หรือรู้อารมณ์ไม่ได้เลย) บุญ กุศล หรือความดีเมื่อประทับอยู่ในจิตใจของคนนั้นแล้ว เมื่อใดที่เขาระลึกถึงความดีนั้น ๆ เขาจะเกิดความปลาบปลื้มยินดี มีความสุข ที่เรียกว่าเป็นกุศลจิต มีผลทำให้เกิดการแสดงออกทางวาจา และทางกาย ได้แก่ การพูดจาไพเราะ น่าฟัง แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตา และกรุณาแก่ผู้อื่น และมีการแสดงออกทางกายให้เห็นได้อีกด้วย ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่ทั่ว ๆ ไปแล้ว
โดย..... ศาสตราจารย์ นายแพทย์จำลอง หะริณสุต
ผู้เรียบเรียง : การทำบุญ. http://www.dhamboon.com , 26 พ.ค. 53 , 09.09 น. พระจิตติเทพ ฌานวโร.
virojanaram
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
เราเป็นชาวพุทธต้องช่วยกันทนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการเข้าวัดฟังธรรม ขอให้มีเจตนา มีความตั้งจิตตั้งใจ เชื่อผลกรรมที่เราได้กระทำกันไว้ ใครทำกรรมอะไรก็ได้รับกรรมนั้น สมดังพุทธสุภาษิตว่า "ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ" แปลว่า "บุคคลหว่านพืชเข่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว"