วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ก่อนอื่น ขอมาทำความเข้าใจในเบื้องต้นให้ตรงกันสักเล็กน้อย ก่อนว่า



สมาธิ คือ อะไร
สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต ความสำรวมใจให้แน่วแน่ เพื่อเพ็งเล็งในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยพิจารณาอย่างเคร่งเครียดเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งในสิ่งนั้น นั่นคือความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ที่ได้ให้ความหมายไว้
คราวนี้ ลองมาดูความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 11 ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ได้ให้ความหมายของคำว่า สมาธิ หมายถึง ความมีใจตั้งมั่น ความตั้งมั่นคงแห่งจิต การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ

ประโยชน์ของสมาธิ
ตามปกติ มนุษย์หรือสัตว์นั้นมีสมาธิโดยธรรมชาติในตัวอยู่แล้ว เช่น ในการวาดเขียนวงกลม หรือ แมวที่จ้องตะครุบหนู นั่นเป็นสมาธิโดยธรรมชาติแต่จะยิ่งดีมากขึ้น ถ้าได้รับการฝึกฝนและทำซ้ำบ่อย ๆ จนเคยชินยังมีผู้เข้าใจผิดว่า สมาธิเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ที่จริงแล้ว นายแพทย์เฉกธนะสิริ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "สมาธิกับคุณภาพชีวิต" ว่า สมาธิเป็นเรื่องของธรรมชาติโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับศาสนา สมาธิสามารถจะฝึกหัดปฏิบัติกันได้ ทุกชาติทุกภาษาและทุกศาสนา อันแตกต่างไปจากคำว่า วิปัสสนาหรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นเรื่องของพุทธศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอื่นไม่มีกล่าวไว้ พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ค้นพบวิถีทางด้วยพระองค์เอง
นายแพทย์เฉก ได้กล่าวต่อไปอีกว่า สมาธินั้น สามารถนำเอาไปใช้ทั้งทางที่ดีและทางที่ชั่ว ถ้าสมาธิถูกนำไปใช้ในทางที่ดี เรียกว่า สัมมาสมาธิถ้าสมาธิถูกนำไปไปใช้ในทางที่ชั่ว เรียกว่า มิจฉาสมาธิ
ส่วนประโยชน์ของสมาธิ นายแพทย์เฉก ได้กล่าวว่า ตามหลักทางพุทธศาสนา มี 4 ประการ
1. เพื่อความสุขทันตาเห็น เป็นประโยชน์ขั้นต้น ขณะที่มีขณิกะสมาธิ คือ เมื่อจิตรวมตัวกันนิ่งดีนั้น เราจะรู้สึก มีความอิ่มเอิบใจ และเกิด ความสุขความสบายใจที่เกิดขึ้นจากจิตว่างชั่วขณะ ด้วยอำนาจของ สมาธิข่มทับไว้
2. เพื่อความสมบูรณ์ของสติสัมปชัญญะ คือทำให้มีสติ คือความระลึกได้ และสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวเองตลอดเวลาไม่เกิดความประมาท จะคิด จะพูดจะทำกิจการใด ก็รอบคอบว่องไว มีความจำดี ตัดสินใจได้รวดเร็ว และตัดสินด้วยเหตุและผล ปฏิภาณเฉียบแหลมและว่องไว และที่สำคัญ ที่สุดคือ ความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในการดำเนินชีวิตและเป็นแสง ส่องทางเพื่อการปฏิบัติธรรมให้ลึกซึ้งต่อไป
3. เพื่อให้กิเลสลดน้อยและหมดไป หมายถึง การห่ำหั่นกิเลสภายในจิตใจ ให้บรรเทาเบาบางจนหมดไปในที่สุด นั่นคือ บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน
4. เพื่ออำนาจอันเป็นทิพย์ โดยเฉพาะบางคนอาจเกิดมีอำนาจทิพย์ เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ หรืออำนาจพิเศษเหนือกว่าธรรมชาติ ที่เรียกว่า อภิญญา ถ้าเกิดหลงติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เดรัจฉานวิชา ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย
ส่วนประโยชน์ของสมาธิ ทางโลก มี 7 ประการ
1. เพื่อใช้ในการต่อสู้การรบและเสริมให้เกิดความกล้าหาญ
2. เพื่อประกอบกิจการงานและการดำรงชีวิต
3. เพื่อการศึกษาเล่าเรียน ความประพฤติและการเข้าใจตัวเอง
4. เพื่อการกีฬา
5. เพื่อการรักษาโรคให้แก่ตัวเอง
6. เพื่อการรักษาโรคให้แก่ผู้อื่น
7. เพื่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่

ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ" ว่า

ก่อนฝึกสมาธิที่โรงเรียน ผมสอบได้ที่โหล่ทุกวิชา เพราะว่าไม่ค่อยสนใจอะไร ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน เป็นเด็กเกเร ชอบชกต่อย แต่หลังจากได้ฝึกสมาธิมาระยะหนึ่ง ปรากฏว่า ความจำดีมาก มีสมาธิในการเรียนมากขึ้นเวลาคุณครูสอนอะไร เราจำได้และสอบได้ดีขึ้น ปรากฏว่า หลังจากนั้นไม่นานเริ่มสอบได้ที่หนึ่งทุกวิชา จากที่โหล่มาเป็นที่หนึ่งเลยครับ และจากเด็กที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ความโกรธ ความโมโห ตอนนี้กลายเป็นคนที่ยิ้มตลอดเวลา เดินไปเดินมาก็ยิ้ม ให้คนโน้นคนนี้ ใครจะมายั่วอย่างไร ใครจะมาด่า ใครจะมาว่า ตอนนี้ไม่สนใจแล้ว ได้แต่ยิ้ม เราไม่โกรธ เราไม่โมโหโคร เริ่มควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้นมากทีเดียว เรื่องการเรียนดีขึ้น
สำหรับเบื้องหลังความสำเร็จของการคิดค้นระบบที่ควบคุมยานอวกาศให้ร่อนลงโดยอัตโนมัติสู่พื้นผิวของดาวอังคาร นั้น ดร. อาจอง ได้กล่าวว่า เมื่อสร้างเสร็จ องค์การนาซ่าได้นำไปทดสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ ทำให้ยานอวกาศพัง ให้กลับไปทำใหม่ ก็พยายามกลับมาวิจัย วิเคราะห์ ออกแบบใหม่ แล้วจึงนำไปให้องค์การทดสอบใหม่ ปรากฏว่า ใช้ไม่ได้ถึง 3 ครั้ง โครงการส่งยานอวกาศไปดาวอังคารนี้ ประธานาธิบดีก็ได้เร่งรัดมา บอกว่าล่าช้าแล้ว และส่วนอื่นของยานอวกาศก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่ส่วนของ ดร. อาจอง เท่านั้น
เมื่อคิดมากแล้ว คิดไม่ออก ก็เลยเลิกคิดชั่วคราว เลยปีนขึ้นไปอยู่บนภูเขาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา แล้วไปนั่งเฉย ๆ คนเดียว พยายามปล่อยวางทุกอย่าง แล้วก็หันจิตใจเข้ามาในตัวเรา พอจิตว่าง ความรู้มันก็เกิดขึ้นมาเฉย ๆ แว้บเข้ามาว่าจะสร้างอย่างไร ก็เลยดีอกดีใจ วิ่งลงมาจากภูเขา วิ่งกลับเข้ามาในห้องทดลอง และก็สร้างตามที่เข้าใจบนยอดเขาเสร็จแล้วก็เอาไปยื่นให้องค์การนาซ่า เมื่อทดสอบแล้ว เขาดีอกดีใจกันใหญ่บอกว่าใช้ได้แล้ว ใช้ได้แล้ว เขาเลยให้สร้าง 3 ชุดด้วยกัน เขาเอาไปประกอบในยานอวกาศไวกิ้ง 1 และเก็บไว้เป็นตัวสำรองในยานอวกาศไวกิ้ง 2 และไวกิ้ง 3 ปรากฏว่า ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามดี ควบคุมยานอวกาศให้ค่อย ๆ ร่อนลงสู่พื้นผิวของดาวอังคารโดยไม่เกิดปัญหาอะไรเลยนี่แหละคือประโยชน์ของการฝึกสมาธิโดยแท้จริง เมื่อฝึกสมาธิให้จิตสงบแล้ว ความรู้มันเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดขึ้น
ดร. อาจอง ยังได้กล่าวต่อไปว่า ถ้าเผื่อเราได้ปลูกฝังการฝึกสมาธิให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ รับรองว่าเด็กคนนั้นจะเก่งอย่างมากทีเดียว เขาจะมีสติปัญญาสูงขึ้น พอโตขึ้นมาเขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งในโลกเขาจะเป็นนักการเมืองที่มีคุณธรรม และเขาจะมีความสามารถพิเศษคนหนึ่งเขาจะทำอะไรก็ได้ เขาจะเป็นนักธุรกิจ เขาก็จะสามารถบริหารงานได้ประสบความสำเร็จที่ดีที่สุด เขาจะมีปัญญาในตัวของเขา

วิธีทดสอบความไม่มีสมาธิ ในเบื้องต้น
1. จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน หดหู่ เศร้าหมอง
2. มีความเครียด
3. มีความกลัว ระแวง
4. ความจำไม่ค่อยดี ลืมโน่น เผลอนี่
5. ใจลอยบ่อย ไม่ค่อยมีสติ หรือขาดสติ
6. นอนไม่ค่อยหลับ
7. คิดมาก คิดวกวน สับสน
8. ทำงานมักผิดพลาดบ่อย
9. เรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง
10. มองท้องฟ้าก็ไม่แจ่มใส มองอะไรก็มัว ๆ ไม่แจ่มชัด
11. ไม่ค่อยสดชื่น แจ่มใส ร่าเริง
วิธีเพิ่มพลังสมาธิ ให้จิตสงบตั้งมั่น
1. จิตนั้น โดยปกติไม่สงบ ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เพราะนิวรณ์ คือกิเลส เป็นเครื่องกั้น วิธีปฏิบัติทำจิตให้สงบนั้น ก็คือ สมถกรรมฐาน ทำจิตให้ตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่น จิตจึงสงบลงได้
2. พยายามข่มนิวรณ์ให้ลง ถ้าข่มนิวรณ์ลงได้ จิตก็เป็นสมาธิ นิวรณ์ มี 5 คือ กามฉันทะ (ความพอใจในกาม, ความต้องการกามคุณ) พยาบาท (ความคิดร้าย, ความขัดเคืองแค้นใจ) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ, ความกระวนกระวายกลุ้มกังวล) และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
3. กายคตาสติ อสุภกรรมฐาน แก้กามฉันทะ (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย) เมตตา แก้พยาบาท (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย) อาโลกสัญญา พุทธานุสสติ แก้ถีนมิทธะ (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย) อานาปานสติ แก้อุทธัจจกุกกุจจะ (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย) ธาตุกรรมฐาน แก้วิจิกิจฉา (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย)
(หมายเหตุ โยนิโสมนสิการ ความกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมาย ความว่า ความรู้จักเหตุที่จะให้เกิดผล)
4. ขณะปฏิบัติงาน บางครั้งเกิดความเบื่อหน่าย ทำสมาธิในขณะเบื่อหน่าย พิจารณาความรู้สึก การทำงาน ส่วนประกอบของความเบื่อ หากรู้สึก โกรธ ทำสมาธิในขณะโกรธ สำรวจกลไกของความโกรธ อย่าวิ่งหนี ถ้าเกิดอารมณ์เศร้า ทำสมาธิ สำรวจความรู้สึกเศร้า อย่างไม่ยึดและ พยายามสาวถึงมัน อย่าหนี สำรวจความซับซ้อนของความรู้สึก เป็น วิธีเดียว ที่จัดการเมื่อเกิดความเศร้าครั้งต่อไป
5. การเพิ่มความจำนั้น จะต้องพยายามเข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะจำให้ลึกซึ้ง ด้วย อย่าเพียงแต่ท่องจำ และหมั่นทบทวนอยู่เสมอ เพราะวันรุ่งขึ้น ก็จะ ลืมไปครึ่งหนึ่งแล้ว และวันมะรืนนี้ ก็จะลืมไปอีกครึ่งหนึ่งอีก ไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการทบทวน
6. ปกติการฝึกสมาธิ ก็จะเป็นการฝึกสติไปด้วยในตัว แต่ก็มีบทฝึกสติโดย เฉพาะ เช่น การเจริญสติตามแนวของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ โดย อาศัยหลักสติปัฏฐาน เป็นการเจริญสติแบบเน้นเรื่องการขยันทำความ รู้สึกตัวไปกับการเคลื่อนไหวของกาย เพื่อให้สติตื่นรู้อยู่เสมอ ไม่ต้องใช้ ความคิดอะไรเลย แต่ไม่ห้ามความคิดและไม่ตามความคิด ให้รู้เท่าทัน ความคิดและปล่อยให้ผ่านไป ไม่มุ่งเอาแต่ความสงบเพียงอย่างเดียว วิธีนี้ทำให้แม้นอนอยู่ก็ไม่ป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติธรรม
7. ท่านที่นอนไม่ค่อยหลับ ลองพักผ่อนด้วยการทำอานาปานสติ เช่น นอนที่เก้าอี้เอน ข้างหน้าต่าง ทำลมหายใจให้เป็นสมาธิ ด้วยลมหาย ใจนี้ จะเป็นการพักผ่อนที่ยิ่งกว่าการนอนหลับ ทำลมหายใจสักชั่วโมง จะดีกว่านอนหลับสัก 5 ชั่วโมง กำหนดลมหายใจให้ละเอียด ๆ จะหลับ ไปเลยก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ต้องหลับ ให้ระบบประสาทระงับ ความร้อนใน ร่างกายระงับ กล้ามเนื้อเส้นเอ็นระงับ นี่เป็นการพักผ่อน จะเรียกว่า หย่อนใจก็ได้ แต่ว่าเป็นการหย่อนใจในทางธรรม นี่เป็นการพักผ่อนที่ดี ไม่มีการพักผ่อนไหนจะดีเท่า การไปพักผ่อนด้วยการดูหนังฟังเพลงนั้น ไม่เรียกว่าไปพักผ่อน ป่วยการเปล่า ๆ
8. การหาความสุขทันใจนึก ก็ให้ทำอานาปานสติ ให้ลมหายใจระงับ ให้ ร่างกายระงับ ประสาทระงับ จะเป็นสุขได้ในเวลา 2-3 นาที ทันใจนึก จะไปหาอะไรมากินมาดื่ม ป่วยการเปล่า ๆ
9. เมื่อพบโชคร้าย หรือข่าวร้าย เข้ามา มีความกลัดกลุ้ม วิตกกังวล ก็ให้ทำอานาปานสติ ระงับมัน ขับไล่มันออกไป
10. เมื่อเจ็บป่วย ไม่สบาย ก็ให้ทำอานาปานสติ เพื่อระงับความปวด ความเจ็บป่วย ก็จะช่วยให้บรรเทาไปได้เป็นอย่างดีทีเดียว
โดยสรุป เห็นว่า ควรมาเพิ่มพลังให้ตนเอง ด้วยพลังสมาธิ ซึ่งมีหลายวิธีเฉพาะพุทธศาสนาก็มีถึง 40 วิธี ศาสนาหรือลัทธิอื่นก็มีมากมายวิธีด้วยกัน จะทำอานาปานสติ หรือสติกำหนดลมหายใจเข้าออกก็ได้ ซึ่งจะให้ประโยชน์แก่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ อยู่ในท้อง ถ้าแม่รู้จักทำอานาปานสติ เด็กในท้องก็ได้รับประโยชน์ เป็นเด็กที่แข็งแรง เข้มแข็ง เฉลียวฉลาด พอถึงวัยรุ่น ถ้ารู้จักทำอานาปานสติ จะไม่ไปเที่ยวเตร่ในที่ที่ไม่ควรไป วัยหนุ่มสาว ก็จะสดชื่น แจ่มใส เป็นคนสงบเยือกเย็น วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ ก็เช่นกันจะมีประโยชน์ทั้งนั้น ในการเป็นพ่อบ้านแม่เรือน และดำเนินชีวิตในวัยชราไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนและจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานได้ ก็ด้วยอำนาจของอานาปานสติ และจะเข้าใจใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตื่นจากอวิชชา ตื่นจากกิเลสทั้งปวง


virojanaram

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

เราเป็นชาวพุทธต้องช่วยกันทนุบำรุงพระพุทธศาสนา ด้วยการเข้าวัดฟังธรรม ขอให้มีเจตนา มีความตั้งจิตตั้งใจ เชื่อผลกรรมที่เราได้กระทำกันไว้ ใครทำกรรมอะไรก็ได้รับกรรมนั้น สมดังพุทธสุภาษิตว่า "ยาทิสํ วปเต พีชํ ตาทิสํ ลภเต ผลํ กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ" แปลว่า "บุคคลหว่านพืชเข่นใด ย่อมได้ผลเช่นนั้น ผู้ทำกรรมดีย่อมได้ผลดี ผู้ทำกรรมชั่ว ย่อมได้ผลชั่ว"