วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ตามรอยครูบาศรีวิชัย


ครูบาศรีวิชัย ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปโดยเฉพาะในเขตล้านนาว่าเป็น "ตนบุญ" หรือ "นักบุญ" อันมีความหมายเชิงยกย่องว่าเป็นนักบวชที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาจพบว่ามีการเรียกอีกว่า ครูบาเจ้าศรีวิชัย พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน"ตุ๊เจ้าสิลิ") แต่พบว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ เดิมชื่อเฟือนหรืออินท์เฟือนบ้างก็ว่าอ้ายฟ้าร้อง เนื่องจากในขณะที่ท่านถือกำเนิดนั้นปรากฏฝนฟ้าคะนองอย่างหนัก ส่วนอินท์เฟือนนั้น หมายถึง การเกิดกัมปนาทหวั่นไหวถึงสวรรค์หรือเมืองของพระอินทร์ ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ(เดือน ๗ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ.๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ "บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับ คือ ๑. นายไหว ๒. นางอวน ๓. นายอินท์เฟือน(ครูบาศรีวิชัย)๔.นางแว่น๕.นายทา
ทั้งนี้นายควายบิดาของท่านได้ติดตามผู้เป็นตาคือ หมื่นปราบ (ผาบ) ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้างของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์(เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ช่วง พ.ศ.๒๔๑๔-๒๔๓๑)ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควายอยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน
ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัยหรือนายอินท์เฟือนยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมากมีชน กลุ่มน้อยอาศัยอยู่มากโดยเฉพาะชาว ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ ๑๗ ปีได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแฅ่งแฅะ เพราะท่านเดินขากะเผลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซางผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ และเมื่ออายุได้ ๑๘ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่ อารามแห่งนี้โดยมีครูบาขัติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่งจังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะวัดบ้านโฮ่งหลวงเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่าพระศรีวิชัย ซึ่งบางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย
เมื่ออุปสมบทแล้ว สิริวิชโยภิกขุก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปางอีก ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษากัมมัฏฐานและวิชาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวงซึ่งเป็นพระอุปฌาย์ของท่าน
ครูบาศรีวิชัยรับการศึกษาจากครูบาอุปละวัดดอยแตเป็นเวลา ๑ พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป(บางท่านว่ามรณภาพ) ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดีโดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน
ครูบาศรีวิชัยเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัด โดยที่ท่านงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งมักเป็นผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ วันอาทิตย์ ไม่ฉันฟักแฟง, วันจันทร์ ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา, วันอังคาร ไม่ฉันมะเขือ, วันพุธ ไม่ฉันใบแมงลัก, วันพฤหัสบดี ไม่ฉันกล้วย, วันศุกร์ ไม่ฉันเทา (อ่าน"เตา"-สาหร่ายน้ำจืดคล้ายเส้นผมสีเขียวชนิดหนึ่ง), วันเสาร์ ไม่ฉันบอน นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และผักเฮือด-ผักฮี้(ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก
ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า "...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..." และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าวในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง อีกประการหนึ่งที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักและอยู่ในความทรงจำของชาวล้านนา คือการที่ท่านเป็นผู้นำในการสร้างทางขึ้นสู่วัดพระธาตุดอยสุเทพโดยพลังศรัทธาประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งกำลังกายและกำลังทรัพย์ ซึ่งใช้เวลาสร้างเพียง ๕ เดือนเศษ โดยไม่ใช้งบประมาณของรัฐ แต่เรื่องที่ทำให้ครูบาศรีวิชัยเป็นที่รู้จักกันใน ระยะแรกนั้นเกิดเนื่องจากการที่ท่านต้องอธิกรณ์ ซึ่งระเบียบการปกครองสงฆ์ตามจารีตเดิมของล้านนานั้นให้ความสำคัญแก่ระบบหมวดอุโบสถ หรือ ระบบหัวหมวดวัด มากกว่า และการปกครองก็เป็นไปในระบบพระอุปัชฌาย์อาจารย์กับศิษย์ ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปหนึ่งจะมีวัดขึ้นอยู่ในการดูแลจำนวนหนึ่งเรียกว่าเจ้าหมวดอุโบสถ โดยคัดเลือกจากพระที่มีผู้เคารพนับถือและได้รับการยกย่องว่าเป็น ครูบา ซึ่งหมายถึงพระภิกษุที่ได้รับความยกย่องอย่างสูง ดังนั้นครูบาศรีวิชัยซึ่งมีชื่อเสียงอยู่ในขณะนั้นจึงอยู่ในตำแหน่งหัวหมวดพระอุปัชฌาย์ โดยฐานะเช่นนี้ ครูบาศรีวิชัยจึงมีสิทธิ์ตามจารีตท้องถิ่นที่จะบวชกุลบุตรได้ ทำให้ครูบาศรีวิชัยจึงมีลูกศิษย์จำนวนมาก และลูกศิษย์เหล่านี้ก็ได้เป็นฐานกำลังที่สำคัญของครูบาศรีวิชัยในการดำเนินกิจกรรมทางศาสนาและกิจกรรมสาธารณประโยชน์ อีกทั้งยังเป็นแนวร่วมในการต่อต้านอำนาจจากกรุงเทพฯเมื่อเกิดกรณีขัดแย้งขึ้นในเวลาต่อมา
ส่วนสงฆ์ในล้านนาเองก็มีแนวปฏิบัติที่หลากหลาย เนื่องจากมีการจำแนกพระสงฆ์ตามจารีตท้องถิ่นออกเป็นถึง ๑๘ นิกาย และในแต่ละนิกายนี้ก็น่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่เป็นสายพระอุปัชฌาย์สืบต่อกันมาในแต่ละท้องที่ซึ่งมีอำนาจปกครองในสายของตน โดยผ่านความคิดระบบครูกับศิษย์ และนอกจากนี้นิกายต่าง ๆ นั้นยังเกี่ยวข้องกับชื่อของเชื้อชาติอีกด้วย เช่น นิกายเชียงใหม่ นิกายขึน (เผ่าไทขึน/เขิน) นิกายยอง (จากเมืองยอง) เป็นต้น สำหรับครูบาศรีวิชัยนั้นยึดถือปฏิบัติในแนวของนิกายเชียงใหม่ผสมกับนิกายยองซึ่งมีแนวปฏิบัติบางอย่างต่างจากนิกายอื่น ๆ มีธรรมเนียมที่ยึดถือคือ การนุ่งห่มที่เรียกว่า กุมผ้าแบบรัดอก สวมหมวก แขวนลูกประคำ ถือไม้เท้าและพัด ซึ่งยึดธรรมเนียมมาจากวัดดอยแตโดยอ้างว่า สืบวิธีการนี้มาจากลังกา การที่ครูบาศรีวิชัยถือว่าท่านมีสิทธิ์ที่จะบวชกุลบุตรได้ตามจารีตการถือปฏิบัติมาแต่เดิมนั้น ทำให้ขัดกับพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑(พ.ศ.๒๔๔๖) เพราะในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดว่า "พระอุปัชฌาย์ที่จะบวชกุลบุตรได้ ต้องได้รับการแต่งตั้งตามระเบียบการปกครองของสงฆ์จากส่วนกลางเท่านั้น" โดยถือเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะแขวงนั้น ๆ เป็นผู้คัดเลือกผู้ที่ควรจะเป็นอุปัชฌาย์ได้ และเมื่อคัดเลือกได้แล้วจึงจะนำชื่อเสนอเจ้าคณะผู้ใหญ่ในกรุงเทพฯเพื่อดำเนินการแต่งตั้งต่อไป การจัดระเบียบการปกครองใหม่ของกรุงเทพฯนี้ถือเป็นวิธีการสลายจารีตเดิมของสงฆ์ในล้านนาอย่างได้ผล องค์กรสงฆ์ล้านนาก็เริ่มสลายตัวลงที่ละน้อยเพราะอย่างน้อยความขัดแย้งต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นระหว่างสงฆ์ในล้านนาด้วยกันเอง ดังกรณี ความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับพระครูมหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้อำเภอลี้จังหวัดลำพูนเป็นต้น
การต้องอธิกรณ์ระยะแรกของครูบาศรีวิชัยนั้นเกิดขึ้นเพราะครูบาศรีวิชัยถือธรรมเนียมปฏิบัติตามจารีตเดิมของล้านนา ส่วนเจ้าคณะแขวงลี้ซึ่งใช้ระเบียบวิธีปฏิบัติของกรุงเทพฯ ซึ่งเห็นว่าครูบาศรีวิชัยทำหน้าที่พระอุปัชฌาย์โดยไม่ได้รับการอนุญาตจากเจ้าคณะแขวงลี้ จึงถือว่าเป็นความผิด เพราะตั้งตนเป็นพระอุปัชฌาย์เองและเป็นพระอุปัชฌาย์เถื่อน ครูบามหารัตนากรเจ้าคณะแขวงลี้กับหนานบุญเติง นายอำเภอลี้ได้เรียกครูบาศรีวิชัยไปสอบสวนเกี่ยวกับปัญหาที่ครูบาศรีวิชัยเป็นพระอุปัชฌาย์บวชกุลบุตรโดยมิได้รับแต่งตั้งตามพระราชบัญญัติ การจับกุมครูบาศรีวิชัยสามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น ๓ ช่วงเนื่องจากเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกือบ ๓๐ ปีและแต่ละช่วงจะมีรายละเอียดของสภาพสังคมที่แตกต่างกัน
อธิกรณ์ระยะแรก (ช่วง พ.ศ.๒๔๕๑ - ๒๔๕๓)
การต้องอธิกรณ์ช่วงแรกของครูบาศรีวิชัยเป็นผลมาจากการเริ่มทดลองใช้กฎหมายของคณะสงฆ์ฉบับแรก (พ.ศ.๒๔๔๖) และเป็นการเริ่มให้อำนาจกับสงฆ์สายกลุ่มผู้ปกครองในช่วงพ.ศ.๒๔๕๓ นั้น บทบาทของครูบาศรีวิชัยในหมู่ชาวบ้านและชาวเขามีลักษณะโดดเด่นเกินกว่าตำแหน่งสงฆ์ผู้ปกครอง ดังจะเห็นว่าชาวบ้านมักนำเอาบุตรหลานมาฝากฝังให้ครูบาศรีวิชัยบวชเณรและอุปสมบท เมื่อความทราบถึงเจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้ ทางการก็เห็นว่าครูบาศรีวิชัยล่วงเกินอำนาจของตน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอได้พาตำรวจควบคุมครูบาศรีวิชัยไปกักไว้ที่วัดเจ้าคณะแขวงลี้ได้ ๔ คืน จากนั้นก็ส่งครูบาศรีวิชัยไปให้พระครูบ้านยู้ เจ้าคณะจังหวัดลำพูนเพื่อรับการไต่สวน ซี่งผลก็ไม่ปรากฏครูบาศรีวิชัยมีความผิด หลังจากถูกไต่สวนครั้งแรกไม่นานนัก ครูบาศรีวิชัยก็ถูกเรียกตัวสอบอีกครั้งโดยพระครู มหาอินทร์ เจ้าคณะแขวงลี้ เนื่องจากมีหมายเรียกให้ครูบาศรีวิชัยนำลูกวัดไปประชุมเพื่อรับทราบระเบียบกฎหมายใหม่จากนายอำเภอและเจ้าคณะแขวงลี้ แต่ครูบาศรีวิชัยไม่ได้ไปตามหมายเรียกนั้น ซึ่งส่งผลทำให้เจ้าอธิการหัววัดที่อยู่ในหมวดอุโบสถของครูบาศรีวิชัยไม่ไปประชุมเช่นกัน เพราะเห็นว่าเจ้าหัวหมวดไม่ไปประชุม ลูกวัดก็ไม่ควรไป พระครูเจ้าคณะแขวงลี้จึงสั่งให้นายสิบตำรวจเมืองลำพูนไปควบคุมครูบาศรีวิชัยส่งให้พระครูญาณมงคลเจ้าคณะจังหวัดลำพูนจัดการไต่สวน ครั้งนั้น ครูบา ศรีวิชัยถูกควบคุมตัวอยู่ที่วัดชัยเมืองลำพูนถึง ๒๓ วัน จึงได้รับการปล่อยตัว
ส่วนครั้งที่๓ ใน พ.ศ.เดียวกันนี้ พระครูเจ้าคณะแขวงลี้ได้สั่งให้ครูบาศรีวิชัยนำเอาลูกวัดเจ้าอธิการหัววัดตำบลบ้านปาง ซึ่งอยู่ในหมวดอุโบสถไปประชุมที่วัดเจ้าคณะแขวงตามพระราชบัญญัติที่จะเพิ่มขึ้น ปรากฏว่าครูบาศรีวิชัยมิได้เข้าประชุมอีก มีผลให้บรรดาหัววัดไม่ไปประชุมเช่นกัน เจ้าคณะแขวงและนายอำเภอลี้จึงมีหนังสือฟ้องถึงพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมไว้ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยเมืองลำพูนนานถึงหนึ่งปี พระครูญาณมงคลจึงได้เรียกประชุมพระครูผู้ใหญ่ในจังหวัดเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมก็ได้ตัดสินให้ครูบาศรีวิชัยพ้นจากตำแหน่งหัวหมวดวัด หรือหมวดอุโบสถและมิให้เป็นพระอุปัชฌาย์อีกต่อไป พร้อมทั้งถูกควบคุมตัวต่อไปอีกหนึ่งปี
อธิกรณ์ระยะที่สอง (พ.ศ. ๒๔๕๔ - ๒๔๖๔)
อธิกรณ์พระศรีวิชัยครั้งที่สองนี้มีความเข้มข้นและรุนแรงขึ้นเนื่องจากเป็นผลมาจากการต้องอธิกรณ์ครั้งแรกถึง ๓ ครั้ง แต่การต้องอธิกรณ์กลับเป็นการเพิ่มความเลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อครูบาศรีวิชัยมากยิ่งขึ้น เสียงที่เล่าลือเกี่ยวกับครูบาสรีวิชัยจึงขยายออกไป นับตั้งแต่เป็นผู้วิเศษเดินตากฝนไม่เปียกและได้รับดาบสรีกัญไชย(พระขรรค์ชัยศรี)จากพระอินทร์ ความนับถือเลื่อมใสศรัทธาใน ตัวครูบาศรีวิชัยยิ่งแพร่ขยายออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง คำเล่าลือดังกล่าวเมื่อทราบถึงเจ้าคณะแขวงลี้และนายอำเภอแขวงลี้ ทั้งสองจึงได้เข้าแจ้งต่อพระครูญาณมงคล เจ้าคณะจังหวัดลำพูน โดยกล่าวหาว่า "ครูบาศรีวิชัยเกลี้ยกล่อมส้องสุมคนคฤหัสถ์นักบวชเป็นก๊กเป็นเหล่า และใช้ผีและเวทมนต์" พระครูญาณมงคลจึงออกหนังสือลงวันที่ ๑๒มกราคม ๒๔๖๒ สั่งครูบาศรีวิชัยให้ออกไปพ้นเขตจังหวัดลำพูน ภายใน ๑๕ วัน พร้อมทั้งมีหนังสือห้ามพระในจังหวัดลำพูนรับครูบาศรีวิชัยไว้ในวัด เมื่อครูบาศรีวิชัยโต้แย้งและทางการไม่สามารถเอาผิดครูบาศรีวิชัยได้ ความดังกล่าวก็เลิกราไประยะหนึ่ง แต่ต่อมา ก็มีหนังสือของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์เจ้าผู้ครองเมืองนครลำพูน เรียกครูบาศรีวิชัยพร้อมกับลูกวัดเข้าเมืองลำพูน ครั้งนั้นพวกลูกศิษย์ได้จัดขบวนแห่ครูบาศรีวิชัยเข้าสู่เมืองอย่างใหญ่โต การณ์ดังกล่าวคงจะทำให้ทางคณะสงฆ์ผู้ปกครองลำพูนตกใจอยู่มิใช่น้อย ดังจะพบว่าเมื่อครูบาศรีวิชัยพักอยู่ที่วัดมหาวันได้คืนหนึ่ง อุปราชเทศามณฑลพายัพจึงได้สั่งย้ายครูบาศรีวิชัยขึ้นไปยังเชียงใหม่ โดยให้พักกับพระครูเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ที่วัดเชตวัน เสร็จแล้วจึงมอบตัวให้พระครูสุคันธศีล รองเจ้าคณะเมืองเชียงใหม่ ที่วัดป่ากล้วย (ศรีดอนไชย)
ในระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยถูกควบคุมอยู่ที่วัดป่ากล้วย ก็ได้มีพ่อค้าใหญ่เข้ามารับเป็นผู้อุปฐากครูบาศรีวิชัยคือหลวงอนุสารสุนทร (ซุ่นฮี้ ชัวย่งเส็ง)และพญาคำ แห่งบ้านประตูท่าแพ ตลอดจนผู้คนทั้งในเชียงใหม่และใกล้เคียงต่างก็เดินทางมานมัสการครูบาศรีวิชัยเป็นจำนวนมาก ทางฝ่ายผู้ดูแลต่างเกรงว่าเรื่องจะลุกลามไปกันใหญ่เนื่องจากแรงศรัทธาของชาวเมืองเหล่านี้ เจ้าคณะเมืองเชียงใหม่และเจ้าคณะมณฑลพายัพจึงส่งครูบาศรีวิชัยไปรับการไต่สวนพิจารณาที่กรุงเทพฯ ซึ่งผลการพิจารณาไม่พบว่าครูบาศรีวิชัยมีความผิด และให้ครูบาศรีวิชัยเลือกเป็นเจ้าอาวาสหรืออาศัยอยู่ในวัดอื่นก็ได้ เมื่อครูบาศรีวิชัยกลับจากกรุงเทพฯแล้ว ชนทุกกลุ่มของล้านนาก็ได้เพิ่มความเคารพยกย่องในตัวครูบา ดังจะเห็นได้จากความสนับสนุนในการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ ทั่วไปในล้านนาซึ่งต้องใช้ทั้งเงินและแรงงานอย่างมหาศาล
อธิกรณ์ระยะที่สาม (ช่วง พ.ศ. ๒๔๗๘ - ๒๔๗๙)
การต้องอธิกรณ์ช่วงที่สามของครูบาศรีวิชัยเกิดขึ้นในช่วงที่ได้มีการสร้างถนนขึ้นสู่พระธาตุดอย สุเทพเพราะขณะก่อสร้างทางอยู่นั้นเอง ปรากฏว่ามีพระสงฆ์ในจังหวัดเชียงใหม่รวม ๑๐ แขวง ๕๐ วัด ขอลาออกจากการปกครองคณะสงฆ์ไปขึ้นอยู่ในปกครองของครูบาศรีวิชัยแทน เมื่อเห็นการที่วัดขอแยกตัวไปขึ้นกับครูบาศรีวิชัยเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นนั้น ทางคณะสงฆ์จึงสั่งให้กลุ่มพระสงฆ์ในวัดที่ขอแยกตัวออกดังกล่าวเข้ามอบตัวและพระสงฆ์ที่ครูบาศรีวิชัยเคยบวชให้ก็ถูกสั่งให้สึก อธิกรณ์ครั้งที่ ๓ นี้ได้ดำเนินมาจนกระทั่ง พ.ศ. ๒๔๗๙ ครูบาศรีวิชัยได้ให้คำรับรองต่อคณะสงฆ์ว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ทุกประการ ท่านจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๙ รวมเวลาที่ต้องสอบสวนและอบรมอยู่ที่วัดเบญจมบพิตรเป็นเวลาถึง ๖ เดือน ๑๗ วัน
กรณีความขัดแย้งระหว่างครูบาศรีวิชัยกับคณะสงฆ์ฝ่ายปกครองได้ดำเนินมาเป็นระยะเวลาเกือบ ๓๐ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นต้นมา ตราบกระทั่งวาระสุดท้ายในชีวิตของครูบาศรีวิชัย แต่ในช่วงเวลานั้น ครูบาศรีวิชัยก็ยังคงดำเนินการช่วยเหลือประชาชน เป็นที่พึ่งทางใจและดำเนินการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ตลอดจนสาธารณะประโยชน์ตามคำอาราธนาอยู่เรื่อยมา
การปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียวัตถุทางพุทธศาสนากับการสร้างสิ่งสาธารณประโยชน์ครูบาศรีวิชัยได้ชื่อว่าเป็นผู้ถือปฏิบัติเคร่งมาตั้งแต่เป็นสามเณร ดังเห็นว่าท่านเป็นผู้ที่มักน้อย ถือสันโดษ และเว้นอาหารที่มีเนื้อสัตว์เจือปน ตลอดจนงดกระทั่งหมาก เมี่ยง และบุหรี่ ทำให้คนทั่วไปเห็นว่าครูบาเป็นผู้บริสุทธิ์ที่มีลักษณะเป็น"ตนบุญ" คนทั้งปวงต่างก็ประสงค์จะทำบุญกับครูบาเพราะเชื่อว่าการถวายทานกับภิกษุผู้บริสุทธิ์เช่นนั้นจะทำให้ผู้ถวายทานได้รับอานิสงส์มาก เงินที่ประชาชนนำมาทำบุญก็นำไปใช้ในการก่อสร้างสาธารณประโยชน์และบูรณะศาสนสถานและศาสนวัตถุ งานก่อสร้างดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อปี ฉลู พ.ศ.๒๔๔๒ เดือน ๓ แรม ๑ ค่ำ ครูบาได้แจ้งข่าวสารไปยังศรัทธาทั้งหลายรวมทั้งชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ว่าจะวัดบ้านปางขึ้นใหม่ ซึ่งก็สร้างเสร็จภายในเวลาไม่นานนัก ให้ชื่อวัดใหม่นั้นว่า "วัดศรีดอยไชยทรายมูล" ซึ่งคนทั่วไปนิยมเรียกว่า "วัดบ้านปาง"
ขั้นตอนปฏิบัติในการไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดมีว่า เมื่อครูบาได้รับนิมนต์ให้ไปบูรณะปฏิสังขรณ์วัดใดแล้ว ทางวัดเจ้าภาพก็จะสร้างที่พักของครูบากับศิษย์และปลูกปะรำสำหรับเป็นที่พักของผู้ที่มาทำบุญกับครูบา คืนแรกที่ครูบาไปถึงก็จะอธิษฐานจิตดูว่าการก่อสร้างครั้งนั้นจะสำเร็จหรือไม่ ซึ่งมีน้อยครั้งที่จะไม่สำเร็จเช่นการสร้างสะพานศรีวิชัยซึ่งเชื่อมระหว่าง อำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมือง ลำพูน จากนั้นครูบาก็จะ "นั่งหนัก" คือเป็นประธานอยู่ประจำในงานนั้น คอยให้พรแก่ศรัทธาที่มาทำบุญโดยไม่สนใจเรื่องเงิน แต่มีคณะกรรมการช่วยกันรวบรวมเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง ครูบาไป "นั่งหนัก" ที่ไหน ประชาชนจะหลั่งไหลกันไปทำบุญที่นั่นถึงวันละ ๒๐๐-๓๐๐ ราย คับคั่งจนที่นั้นกลายเป็นตลาดเป็นชุมชนขึ้น เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วก็จะมีงาน "พอยหลวง-ปอยหลวง" คืองานฉลอง บางแห่งมีงานฉลองถึงสิบห้าวัน และในช่วงเวลาดังกล่าวก็มักจะมีคนมาทำบุญกับครูบามากกว่าปกติ เมื่อเสร็จงาน"พอยหลวง-ปอยหลวง" ในที่หนึ่งแล้ว ครูบาและศิษย์ก็จะย้ายไปก่อสร้างที่อื่นตามที่มีผู้มานิมนต์ไว้ โดยที่ท่านจะไม่นำทรัพย์สินอื่นใดจากแหล่งก่อนไปด้วยเลย ช่วงที่ครูบาศรีวิชัยต้องอธิกรณ์ครั้งที่สองและถูกควบคุมไว้ที่วัดศรีดอนชัย เชียงใหม่ เป็นเวลา ๓ เดือนกับ ๘ วันนั้น ผู้คนหลั่งไหลไปทำบุญกับครูบาไม่ต่ำกว่าวันละ ๒๐๐ ราย เมื่อครูบาได้ผ่านการพิจารณาอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาอีก ๒ เดือนกับ ๔ วันแล้วครูบาก็เดินทางกลับลำพูนเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๓ หลังจากนั้นผู้คนก็มีความศรัทธาในตัวครูบามากขึ้น ครูบาศรีวิชัยเริ่มต้นการบูรณะวัดขณะที่ท่านอายุ ๔๒ ปี โดยเริ่มจากการบูรณะพระเจดีย์บ่อนไก้แจ้ จังหวัดลำปาง ถัดจากนั้นได้บูรณะเจดีย์และวิหารวัดพระธาตุหริภุญชัย ต่อมาได้ไปบูรณะเจดีย์ดอยเกิ้ง ในเขตอำเภอฮอด เชียงใหม่ จากนั้นไปบูรณะวัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา กล่าวกันมาว่าในวันที่ท่านถึงพะเยานั้น มีประชาชนนำเงินมาบริจาคร่วมทำบุญใส่ปีบได้ถึง ๒ ปีบ หลังจากนั้นมาบูรณะวัดพระสิงห์ เชียงใหม่ เป็นอาทิ รวมแล้วพบว่างานบูรณะปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของครูบาศรีวิชัยมีประมาณ ๒๐๐ แห่ง
ในขณะที่ครูบาศรีวิชัยกำลังบูรณะวัดสวนดอกเชียงใหม่ใน พ.ศ.๒๔๗๕ อยู่นั้น หลวงศรีประกาศได้หารือกับครูบาศรีวิชัยว่าอยากจะนำไฟฟ้าขึ้นไปใช้บนดอยสุเทพ แต่ครูบาศรีวิชัยว่าหากทำถนนขึ้นไปจะง่ายกว่าและจะได้ไฟฟ้าในภายหลัง ทั้งนี้ทางการเคยคำนวณไว้ในช่วง พ.ศ.๒๔๖๐ ว่าหากสร้างทางขึ้นดอยสุเทพนั้นจะต้องใช้งบประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ครูบาศรีวิชัยได้เริ่มสร้างทางเมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๗๗ และเปิดให้รถยนต์แล่นได้ในวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๘๘ โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเลย ครั้นเสร็จงานสร้างถนนแล้ว ครูบาศรีวิชัยก็ถูกนำตัวไปสอบอธิกรณ์ที่กรุงเทพฯอีกเป็นครั้งที่สอง และงานชิ้นสุดท้ายของท่านที่ไม่เสร็จในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็คือสะพานศรีวิชัยอนุสรณ์ ทอดข้ามน้ำแม่ปิงเชื่อมอำเภอหางดง เชียงใหม่ กับอำเภอเมืองจังหวัดลำพูน
ในการก่อสร้างต่าง ๆ นับแต่ พ.ศ.๒๔๖๓ ถึง ๒๔๗๑ มีผู้ได้บริจาคเงินทำบุญกับท่าน ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ รูปี คิดเป็นเงินไม่น้อยกว่าสามหมื่นห้าพันบาท รวมค่าก่อสร้างชั่วชีวิตของท่านประมาณสองล้านบาท นอกจากนั้นท่านยังได้สร้างคัมภีร์ต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า ๓๐๐๐ ผูก คิดค่าจารเป็นเงิน ๔,๓๒๑ รูปี(รูปีละ ๘๐ สตางค์) ทั้งนี้ แม้ครูบาศรีวิชัยจะมีงานก่อสร้างที่ยิ่งใหญ่และมากมาย แต่บิดามารดาคือนายควายและนางอุสาก็ยังคงอยู่ในกระท่อมอย่างเดิมสืบมาตราบจนสิ้นอายุ
ครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นคนร่างเล็กผอมบางผิวขาว ไม่ใช่คนแข็งแรง แม้ท่านจะไม่ต้องทำงานประเภทใช้แรงงาน แต่การที่ต้องนั่งคอยต้อนรับและให้พรแก่ผู้มาทำบุญกับท่านนั้น ท่านจะต้อง"นั่งหนัก"อยู่ตลอดทั้งวัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวารซึ่งสะสมมาแต่ครั้งการตระเวนก่อสร้างบูรณะวัดในเขตล้านนา และการอาพาธได้กำเริบขณะที่สร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิง ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปี จากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี ลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ.๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้นจึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูนอันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น
วัตถุมงคลของครูบาเจ้าศรีวิชัย
ในยุคที่ครูบาศรีวิชัยยังไม่ถึงแก่มรณภาพนั้น ผู้ที่ทำบุญกับครูบาศรีวิชัยจะได้รับความอิ่มใจที่ได้ทำบุญกับท่านเท่านั้น ส่วนการสร้างวัตถุมงคลนั้น ระยะแรก พวกลูกศิษย์ที่นับถือครูบาศรีวิชัยได้จัดทำพระเครื่องคล้ายพระรอดหรือพระคงของลำพูน โดยเมื่อครูบาปลงผมในวันโกน ก็จะเก็บเอาเส้นผมนั้นมาผสมกับมุกมีส่วนผสมกับน้ำรักกดลงในแบบพิมพ์ดินเผาแล้วแจกกันไปโดยไม่ต้องเช่าในระหว่างศิษย์กล่าวกันว่าเพื่อป้องกันภยันตรายต่างๆซึ่งก็ลือกันว่ามีอิทธิฤทธิ์เป็นที่น่าอัศจรรย์
ส่วนเหรียญโลหะรูปครูบาศรีวิชัยนั้น พระครูวิมลญาณประยุต (สุดใจ วิกสิตฺโต) ชาวจังหวัดอ่างทองได้ร่วมกับคณะสงฆ์จังหวัดลำพูนสร้างขึ้นให้เช่าเพื่อนำเงินมาช่วยในการปลงศพครูบาศรีวิชัย โดยให้เช่าในราคาเหรียญละ ๕ สตางค์ ทั้งนี้ สิงฆะ วรรณสัย ยืนยันจากประสบการณ์ที่ท่านรู้จักครูบาดีและได้คลุกคลีกับเรื่องพระเครื่องมาตั้งแต่ครูบายังไม่มรณภาพนั้นระบุว่าไม่มีเหรียญรุ่นดอยสุเทพ ไม่มีเหรียญที่ครูบาศรีวิชัยสร้าง หรือวัตถุมงคลอื่นใดที่ครูบาจะสร้างขึ้น นอกจากการให้พรและความอิ่มใจในการทำบุญกับท่านเท่านั้น แต่ในระยะหลังก็พบว่ามีการสร้างวัตถุมงคลของครูบาอยู่เป็นจำนวนมาก ในรูปแบบต่างๆ โดยผู้ที่ครอบครองวัตถุมงคลเหล่านั้นมีความศรัทธาในความดีของ"ตนบุญ"เป็นสำคัญ
(เรียบเรียงจากงานของ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง, ประวัติครูบาศรีวิชัยร่วมกับหลวงศรีประกาศ ตอนสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ ของ ส.สุภาภา ๑๐ พค.๒๕๑๘, สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย ของสิงฆะ วรรณสัย ศูนย์หนังสือเชียงใหม่ พฤศจิกายน ๒๕๒๒, และ ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิศดารและตำนานวัดสวน-ดอก สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๒๕๓๗)
วัดวิโรจนาราม

ก่อนอื่น ขอมาทำความเข้าใจในเบื้องต้นให้ตรงกันสักเล็กน้อย ก่อนว่า



สมาธิ คือ อะไร
สมาธิ คือ ความตั้งมั่นแห่งจิต ความสำรวมใจให้แน่วแน่ เพื่อเพ็งเล็งในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยพิจารณาอย่างเคร่งเครียดเพื่อให้เกิดปัญญาเห็นแจ้งในสิ่งนั้น นั่นคือความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ที่ได้ให้ความหมายไว้
คราวนี้ ลองมาดูความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 11 ของพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตโต) ได้ให้ความหมายของคำว่า สมาธิ หมายถึง ความมีใจตั้งมั่น ความตั้งมั่นคงแห่งจิต การทำให้ใจสงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน การมีจิตกำหนดแน่วแน่อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยเฉพาะ

ประโยชน์ของสมาธิ
ตามปกติ มนุษย์หรือสัตว์นั้นมีสมาธิโดยธรรมชาติในตัวอยู่แล้ว เช่น ในการวาดเขียนวงกลม หรือ แมวที่จ้องตะครุบหนู นั่นเป็นสมาธิโดยธรรมชาติแต่จะยิ่งดีมากขึ้น ถ้าได้รับการฝึกฝนและทำซ้ำบ่อย ๆ จนเคยชินยังมีผู้เข้าใจผิดว่า สมาธิเป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ที่จริงแล้ว นายแพทย์เฉกธนะสิริ ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "สมาธิกับคุณภาพชีวิต" ว่า สมาธิเป็นเรื่องของธรรมชาติโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับศาสนา สมาธิสามารถจะฝึกหัดปฏิบัติกันได้ ทุกชาติทุกภาษาและทุกศาสนา อันแตกต่างไปจากคำว่า วิปัสสนาหรือวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นเรื่องของพุทธศาสนา โดยเฉพาะศาสนาอื่นไม่มีกล่าวไว้ พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ค้นพบวิถีทางด้วยพระองค์เอง
นายแพทย์เฉก ได้กล่าวต่อไปอีกว่า สมาธินั้น สามารถนำเอาไปใช้ทั้งทางที่ดีและทางที่ชั่ว ถ้าสมาธิถูกนำไปใช้ในทางที่ดี เรียกว่า สัมมาสมาธิถ้าสมาธิถูกนำไปไปใช้ในทางที่ชั่ว เรียกว่า มิจฉาสมาธิ
ส่วนประโยชน์ของสมาธิ นายแพทย์เฉก ได้กล่าวว่า ตามหลักทางพุทธศาสนา มี 4 ประการ
1. เพื่อความสุขทันตาเห็น เป็นประโยชน์ขั้นต้น ขณะที่มีขณิกะสมาธิ คือ เมื่อจิตรวมตัวกันนิ่งดีนั้น เราจะรู้สึก มีความอิ่มเอิบใจ และเกิด ความสุขความสบายใจที่เกิดขึ้นจากจิตว่างชั่วขณะ ด้วยอำนาจของ สมาธิข่มทับไว้
2. เพื่อความสมบูรณ์ของสติสัมปชัญญะ คือทำให้มีสติ คือความระลึกได้ และสัมปชัญญะ คือความรู้ตัวเองตลอดเวลาไม่เกิดความประมาท จะคิด จะพูดจะทำกิจการใด ก็รอบคอบว่องไว มีความจำดี ตัดสินใจได้รวดเร็ว และตัดสินด้วยเหตุและผล ปฏิภาณเฉียบแหลมและว่องไว และที่สำคัญ ที่สุดคือ ความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ในการดำเนินชีวิตและเป็นแสง ส่องทางเพื่อการปฏิบัติธรรมให้ลึกซึ้งต่อไป
3. เพื่อให้กิเลสลดน้อยและหมดไป หมายถึง การห่ำหั่นกิเลสภายในจิตใจ ให้บรรเทาเบาบางจนหมดไปในที่สุด นั่นคือ บรรลุถึงมรรคผลนิพพาน
4. เพื่ออำนาจอันเป็นทิพย์ โดยเฉพาะบางคนอาจเกิดมีอำนาจทิพย์ เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ หรืออำนาจพิเศษเหนือกว่าธรรมชาติ ที่เรียกว่า อภิญญา ถ้าเกิดหลงติดอยู่กับสิ่งเหล่านี้ ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เดรัจฉานวิชา ไม่สามารถจะบรรลุมรรคผลนิพพานได้เลย
ส่วนประโยชน์ของสมาธิ ทางโลก มี 7 ประการ
1. เพื่อใช้ในการต่อสู้การรบและเสริมให้เกิดความกล้าหาญ
2. เพื่อประกอบกิจการงานและการดำรงชีวิต
3. เพื่อการศึกษาเล่าเรียน ความประพฤติและการเข้าใจตัวเอง
4. เพื่อการกีฬา
5. เพื่อการรักษาโรคให้แก่ตัวเอง
6. เพื่อการรักษาโรคให้แก่ผู้อื่น
7. เพื่อการเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่

ดร. อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "ประโยชน์ของการฝึกสมาธิ" ว่า

ก่อนฝึกสมาธิที่โรงเรียน ผมสอบได้ที่โหล่ทุกวิชา เพราะว่าไม่ค่อยสนใจอะไร ไม่ค่อยมีสมาธิในการเรียน เป็นเด็กเกเร ชอบชกต่อย แต่หลังจากได้ฝึกสมาธิมาระยะหนึ่ง ปรากฏว่า ความจำดีมาก มีสมาธิในการเรียนมากขึ้นเวลาคุณครูสอนอะไร เราจำได้และสอบได้ดีขึ้น ปรากฏว่า หลังจากนั้นไม่นานเริ่มสอบได้ที่หนึ่งทุกวิชา จากที่โหล่มาเป็นที่หนึ่งเลยครับ และจากเด็กที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ความโกรธ ความโมโห ตอนนี้กลายเป็นคนที่ยิ้มตลอดเวลา เดินไปเดินมาก็ยิ้ม ให้คนโน้นคนนี้ ใครจะมายั่วอย่างไร ใครจะมาด่า ใครจะมาว่า ตอนนี้ไม่สนใจแล้ว ได้แต่ยิ้ม เราไม่โกรธ เราไม่โมโหโคร เริ่มควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้นมากทีเดียว เรื่องการเรียนดีขึ้น
สำหรับเบื้องหลังความสำเร็จของการคิดค้นระบบที่ควบคุมยานอวกาศให้ร่อนลงโดยอัตโนมัติสู่พื้นผิวของดาวอังคาร นั้น ดร. อาจอง ได้กล่าวว่า เมื่อสร้างเสร็จ องค์การนาซ่าได้นำไปทดสอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ปรากฏว่าใช้ไม่ได้ ทำให้ยานอวกาศพัง ให้กลับไปทำใหม่ ก็พยายามกลับมาวิจัย วิเคราะห์ ออกแบบใหม่ แล้วจึงนำไปให้องค์การทดสอบใหม่ ปรากฏว่า ใช้ไม่ได้ถึง 3 ครั้ง โครงการส่งยานอวกาศไปดาวอังคารนี้ ประธานาธิบดีก็ได้เร่งรัดมา บอกว่าล่าช้าแล้ว และส่วนอื่นของยานอวกาศก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือแต่ส่วนของ ดร. อาจอง เท่านั้น
เมื่อคิดมากแล้ว คิดไม่ออก ก็เลยเลิกคิดชั่วคราว เลยปีนขึ้นไปอยู่บนภูเขาในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา แล้วไปนั่งเฉย ๆ คนเดียว พยายามปล่อยวางทุกอย่าง แล้วก็หันจิตใจเข้ามาในตัวเรา พอจิตว่าง ความรู้มันก็เกิดขึ้นมาเฉย ๆ แว้บเข้ามาว่าจะสร้างอย่างไร ก็เลยดีอกดีใจ วิ่งลงมาจากภูเขา วิ่งกลับเข้ามาในห้องทดลอง และก็สร้างตามที่เข้าใจบนยอดเขาเสร็จแล้วก็เอาไปยื่นให้องค์การนาซ่า เมื่อทดสอบแล้ว เขาดีอกดีใจกันใหญ่บอกว่าใช้ได้แล้ว ใช้ได้แล้ว เขาเลยให้สร้าง 3 ชุดด้วยกัน เขาเอาไปประกอบในยานอวกาศไวกิ้ง 1 และเก็บไว้เป็นตัวสำรองในยานอวกาศไวกิ้ง 2 และไวกิ้ง 3 ปรากฏว่า ประสบผลสำเร็จอย่างงดงามดี ควบคุมยานอวกาศให้ค่อย ๆ ร่อนลงสู่พื้นผิวของดาวอังคารโดยไม่เกิดปัญหาอะไรเลยนี่แหละคือประโยชน์ของการฝึกสมาธิโดยแท้จริง เมื่อฝึกสมาธิให้จิตสงบแล้ว ความรู้มันเกิดขึ้น ปัญญามันเกิดขึ้น
ดร. อาจอง ยังได้กล่าวต่อไปว่า ถ้าเผื่อเราได้ปลูกฝังการฝึกสมาธิให้กับเด็ก ๆ ตั้งแต่อายุ 6 ขวบ รับรองว่าเด็กคนนั้นจะเก่งอย่างมากทีเดียว เขาจะมีสติปัญญาสูงขึ้น พอโตขึ้นมาเขาจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่เก่งในโลกเขาจะเป็นนักการเมืองที่มีคุณธรรม และเขาจะมีความสามารถพิเศษคนหนึ่งเขาจะทำอะไรก็ได้ เขาจะเป็นนักธุรกิจ เขาก็จะสามารถบริหารงานได้ประสบความสำเร็จที่ดีที่สุด เขาจะมีปัญญาในตัวของเขา

วิธีทดสอบความไม่มีสมาธิ ในเบื้องต้น
1. จิตไม่สงบ ฟุ้งซ่าน หดหู่ เศร้าหมอง
2. มีความเครียด
3. มีความกลัว ระแวง
4. ความจำไม่ค่อยดี ลืมโน่น เผลอนี่
5. ใจลอยบ่อย ไม่ค่อยมีสติ หรือขาดสติ
6. นอนไม่ค่อยหลับ
7. คิดมาก คิดวกวน สับสน
8. ทำงานมักผิดพลาดบ่อย
9. เรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง
10. มองท้องฟ้าก็ไม่แจ่มใส มองอะไรก็มัว ๆ ไม่แจ่มชัด
11. ไม่ค่อยสดชื่น แจ่มใส ร่าเริง
วิธีเพิ่มพลังสมาธิ ให้จิตสงบตั้งมั่น
1. จิตนั้น โดยปกติไม่สงบ ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย เพราะนิวรณ์ คือกิเลส เป็นเครื่องกั้น วิธีปฏิบัติทำจิตให้สงบนั้น ก็คือ สมถกรรมฐาน ทำจิตให้ตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์ของสมาธิ เมื่อจิตตั้งมั่น จิตจึงสงบลงได้
2. พยายามข่มนิวรณ์ให้ลง ถ้าข่มนิวรณ์ลงได้ จิตก็เป็นสมาธิ นิวรณ์ มี 5 คือ กามฉันทะ (ความพอใจในกาม, ความต้องการกามคุณ) พยาบาท (ความคิดร้าย, ความขัดเคืองแค้นใจ) ถีนมิทธะ (ความหดหู่และเซื่องซึม) อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านและร้อนใจ, ความกระวนกระวายกลุ้มกังวล) และวิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
3. กายคตาสติ อสุภกรรมฐาน แก้กามฉันทะ (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย) เมตตา แก้พยาบาท (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย) อาโลกสัญญา พุทธานุสสติ แก้ถีนมิทธะ (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย) อานาปานสติ แก้อุทธัจจกุกกุจจะ (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย) ธาตุกรรมฐาน แก้วิจิกิจฉา (ต้องมีโยนิโสมนสิการด้วย)
(หมายเหตุ โยนิโสมนสิการ ความกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย หมาย ความว่า ความรู้จักเหตุที่จะให้เกิดผล)
4. ขณะปฏิบัติงาน บางครั้งเกิดความเบื่อหน่าย ทำสมาธิในขณะเบื่อหน่าย พิจารณาความรู้สึก การทำงาน ส่วนประกอบของความเบื่อ หากรู้สึก โกรธ ทำสมาธิในขณะโกรธ สำรวจกลไกของความโกรธ อย่าวิ่งหนี ถ้าเกิดอารมณ์เศร้า ทำสมาธิ สำรวจความรู้สึกเศร้า อย่างไม่ยึดและ พยายามสาวถึงมัน อย่าหนี สำรวจความซับซ้อนของความรู้สึก เป็น วิธีเดียว ที่จัดการเมื่อเกิดความเศร้าครั้งต่อไป
5. การเพิ่มความจำนั้น จะต้องพยายามเข้าใจในสิ่งที่ต้องการจะจำให้ลึกซึ้ง ด้วย อย่าเพียงแต่ท่องจำ และหมั่นทบทวนอยู่เสมอ เพราะวันรุ่งขึ้น ก็จะ ลืมไปครึ่งหนึ่งแล้ว และวันมะรืนนี้ ก็จะลืมไปอีกครึ่งหนึ่งอีก ไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่มีการทบทวน
6. ปกติการฝึกสมาธิ ก็จะเป็นการฝึกสติไปด้วยในตัว แต่ก็มีบทฝึกสติโดย เฉพาะ เช่น การเจริญสติตามแนวของหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ โดย อาศัยหลักสติปัฏฐาน เป็นการเจริญสติแบบเน้นเรื่องการขยันทำความ รู้สึกตัวไปกับการเคลื่อนไหวของกาย เพื่อให้สติตื่นรู้อยู่เสมอ ไม่ต้องใช้ ความคิดอะไรเลย แต่ไม่ห้ามความคิดและไม่ตามความคิด ให้รู้เท่าทัน ความคิดและปล่อยให้ผ่านไป ไม่มุ่งเอาแต่ความสงบเพียงอย่างเดียว วิธีนี้ทำให้แม้นอนอยู่ก็ไม่ป็นอุปสรรคขัดขวางการปฏิบัติธรรม
7. ท่านที่นอนไม่ค่อยหลับ ลองพักผ่อนด้วยการทำอานาปานสติ เช่น นอนที่เก้าอี้เอน ข้างหน้าต่าง ทำลมหายใจให้เป็นสมาธิ ด้วยลมหาย ใจนี้ จะเป็นการพักผ่อนที่ยิ่งกว่าการนอนหลับ ทำลมหายใจสักชั่วโมง จะดีกว่านอนหลับสัก 5 ชั่วโมง กำหนดลมหายใจให้ละเอียด ๆ จะหลับ ไปเลยก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ต้องหลับ ให้ระบบประสาทระงับ ความร้อนใน ร่างกายระงับ กล้ามเนื้อเส้นเอ็นระงับ นี่เป็นการพักผ่อน จะเรียกว่า หย่อนใจก็ได้ แต่ว่าเป็นการหย่อนใจในทางธรรม นี่เป็นการพักผ่อนที่ดี ไม่มีการพักผ่อนไหนจะดีเท่า การไปพักผ่อนด้วยการดูหนังฟังเพลงนั้น ไม่เรียกว่าไปพักผ่อน ป่วยการเปล่า ๆ
8. การหาความสุขทันใจนึก ก็ให้ทำอานาปานสติ ให้ลมหายใจระงับ ให้ ร่างกายระงับ ประสาทระงับ จะเป็นสุขได้ในเวลา 2-3 นาที ทันใจนึก จะไปหาอะไรมากินมาดื่ม ป่วยการเปล่า ๆ
9. เมื่อพบโชคร้าย หรือข่าวร้าย เข้ามา มีความกลัดกลุ้ม วิตกกังวล ก็ให้ทำอานาปานสติ ระงับมัน ขับไล่มันออกไป
10. เมื่อเจ็บป่วย ไม่สบาย ก็ให้ทำอานาปานสติ เพื่อระงับความปวด ความเจ็บป่วย ก็จะช่วยให้บรรเทาไปได้เป็นอย่างดีทีเดียว
โดยสรุป เห็นว่า ควรมาเพิ่มพลังให้ตนเอง ด้วยพลังสมาธิ ซึ่งมีหลายวิธีเฉพาะพุทธศาสนาก็มีถึง 40 วิธี ศาสนาหรือลัทธิอื่นก็มีมากมายวิธีด้วยกัน จะทำอานาปานสติ หรือสติกำหนดลมหายใจเข้าออกก็ได้ ซึ่งจะให้ประโยชน์แก่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ อยู่ในท้อง ถ้าแม่รู้จักทำอานาปานสติ เด็กในท้องก็ได้รับประโยชน์ เป็นเด็กที่แข็งแรง เข้มแข็ง เฉลียวฉลาด พอถึงวัยรุ่น ถ้ารู้จักทำอานาปานสติ จะไม่ไปเที่ยวเตร่ในที่ที่ไม่ควรไป วัยหนุ่มสาว ก็จะสดชื่น แจ่มใส เป็นคนสงบเยือกเย็น วัยผู้ใหญ่ และวัยผู้สูงอายุ ก็เช่นกันจะมีประโยชน์ทั้งนั้น ในการเป็นพ่อบ้านแม่เรือน และดำเนินชีวิตในวัยชราไม่เป็นทุกข์เป็นร้อนและจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานได้ ก็ด้วยอำนาจของอานาปานสติ และจะเข้าใจใน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตื่นจากอวิชชา ตื่นจากกิเลสทั้งปวง


virojanaram