วันพุธที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พุทธศาสนามหายานในประเทศลาว

ประเทศลาวถือเป็นประเทศพี่น้องกับไทย มีวัฒนธรรมที่ไม่แตกต่างกันนัก เนื่องจากเคยเป็นพี่น้องกันมาแต่โบราณ ที่อพยพมาจากจีน เมื่อตอนอยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว เมื่อประมาณ พ.ศ. ๖๑๒ ก็ได้นับถือพุทธศาสนาแบบมหายานมาก่อน เมื่อถูกจีนรุกราน จึงได้อพยพมาอยู่ในเมืองล้านช้างประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๐ ก็กลับมาเป็นนับถือผีสางเทวดาดังเดิมอีก ต่อมาเมื่อเจ้าสุวรรณคำผงขึ้นเสวยราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๕-๑๘๙๖ ทรงมีพระ โอรส ๖ พระองค์ ใน ๖ พระองค์นั้น เจ้าฟ้างุ้มมีลักษณะผิดแผกจากพระโอรสองค์อื่น คือมีฟันและลิ้นเป็นสีดำ โหรทำนายว่าเป็นกาลกินีจึงได้นำไปลอยแพ บังเอิญแพได้มาถึงเมืองขอม (กัมพุชา) ได้รับการเลี้ยงดูจากพระมหาปาสมันตเถระ ต่อมาได้เข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กในราชสำนักของพระเจ้าอินทปัตถ์ และได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของพระเจ้าอินทปัตถ์ พระนามว่า พระนางแก้วยอดฟ้า (ฟ้าหญิงคำหยาด) ต่อมาบิดาให้ไปตีเมืองล้านช้าง และสามารถยึดเมืองล้านช้างได้ในปี พ.ศ. ๑๘๙๖ แล้วขึ้นครองราชย์ เป็นกษัตริย์องค์ที่ ๒๓ ของราชวงศ์ล้านช้าง ทรงพระนามว่า พระเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณี แผ่อาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง พุทธศาสนาได้เข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างในยุคนี้ กล่าวคือพระนางแก้วยอดฟ้าพระมเหสีผู้ทรงเคยนับถือพุทธศาสนามาก่อน เมื่อครั้งอยู่ในเมืองขอมทรงเห็นประชาชนนับถือผีสางเทวดา และฆ่าสัตว์บูชาเซ่นสรวง จึงได้ทูลขอให้พระเจ้าฟ้างุ้มไปอัญเชิญพระพุทธศาสนามาเผยแผ่ในอาณาจักรล้านชัาง พระเจ้าฟ้างุ้มทรงเห็นด้วย จึงให้ทูตไป ทูลขอนิมนต์พระสงฆ์เขมรเข้ามาเผยแผ่ในประเทศลาว และพระนางยังได้ขอร้องทางเขมรได้จัดส่งพระสงฆ์มาประกาศศาสนาแบบเถรวาท ซึ่งมีพระมหาปาสามานเจ้าเป็นประมุข เข้ามาเผยแผ่ในล้านช้าง พระพุทธศาสนาจึงได้เผยแผ่มาสู่ประเทศลาว และได้รับการอุปถัมภ์อย่างดีจากพระเจ้าฟ้างุ้ม เนื่องจากพระเจ้าฟ้างุ้มเคยได้รับอุปการะจากพระมหาปาสามานเถระเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ด้วย พระมหาปาสามานเถระและคณะได้เดินทางออกจากเมืองกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๒ ไปตามลำดับจนถึงเมืองแกพร้อมกับนำเอาพระพุทธรูปปางห้ามญาติ ชื่อ พระบาง และพระไตรปิฎกไปด้วยเพื่อที่จะถวายแก่พระเจ้าฟ้างุ้ม เมื่อคณะสงฆ์เดินทางมาถึงเวียงจันทน์ เจ้าเมืองจันทน์ได้นิมนต์พักสมโภชพระบางอยู่ ๓ คืน ๓ วัน แล้วคณะสงฆ์ก็เดินทางต่อไปยังเวียงคำ อาราธนาพระเถระไปในเมือง ประชาชนได้มาสมโภชนพระบางกัน ๓ คืน ๓วัน ครั้นจะเดินทางต่างปรากฏว่าพระพุทธรูปไม่สามารถยกไปได้จึงเสี่ยงทายว่าเทวดาอารักษ์คงปรารถนาจะให้พระบางอยู่ที่เวียงคำพระเถระและผู้ติดตาม ได้มีเดินทางไปยังเมืองเชียงทอง ครั้งถึงเชียงทอง ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าฟ้างุ้มและพระมเหสี พระเถระและคณะจึงได้เผยแผ่พุทธศาสนาในลาวจนเจริญรุ่งเรืองประดิษฐานมั่นคงสืบมา รัชสมัยของพระเจ้าฟ้างุ่มนั้นเต็มไปด้วยศึกสงคราม ทำให้ชาวลาวที่มีนิสัยรักสงบเกิดความเบื่อหน่าย จนในที่สุดพร้อมใจกันขับพระเจ้าฟ้างุ่มออกจากราชสมบัติ และอภิเษกพระราชโอรสทรงพระนามว่า "พญาสามแสนไท" ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพระองค์ทรงอภิเษกกับเจ้าหญิงแห่งอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทำให้มีการจัดระเบียบบ้านเมืองตามแบบแผนวิธีการที่ได้รับจากประเทศไทยเป็นอันมาก ในด้านการพระพุทธศาสนา พญาสามแสนไททรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก เช่นทรงสร้างวัดมโนรมย์ วัดอุโบสถ หอสมุด โรงเรียนปริยัติธรรม เป็นต้น และทรงเจริญพระราชไตรีกับทางกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนถึงกัมพูชา เวียดนาม ซึ่งถือได้ว่าในสมัยนี้เป็นสมัยแห่งการจัดสรรบ้านเมือง และการสร้างความมั่นคงเป็นปึกแผ่นอย่างมาก สมัยพระเจ้าวิชุลราชาธิปัต (พ.ศ. ๒๐๔๔-๒๐๖๓) บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบ กษัตริย์ทรงเอาใจใส่ทำนุบำรุงพุทธศาสนา ได้สร้างวัดวาอารามต่าง ๆ เช่น สร้างวัดบรมมหาราชวังเวียงทอง วัดวิชุลราช เพื่ออัญเชิญพระบางจากเวียงคำมาประดิษฐานที่วัดนี้ ต่อมาทรงสร้างวัดโพธิ์สบ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระราชธิดาที่ได้สวรรคตไป ในรัชสมัยพระเจ้าโพธิสารราช (พ.ศ. ๒๐๖๓-๒๐๙๐) พระองค์เป็นผู้เคร่งครัดทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงมีพระราชโองการให้พลเมืองเลิกนับถือผีสางเทวดา เลิกทรงเจ้าเข้าผีทั่วพระราชอาณาจักร ทรงให้รื้อศาลหลวง ศาลเจ้าผีเสื้อเมืองทรงเมือง และให้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแทน ทรงสร้างวัดสุวรรณเทวโลกแต่เนื่องจากประเพณีการนับถือผีนั้นมีมานานมาก และได้ฝังเข้าไปในจิตใจของประชาชนทั่วไป จึงยากที่จะเลิกอย่างเด็ดขาดได้ ครั้นต่อมาทางอาณาจักรล้านนาว่างกษัตริย์ปกครอง จึงได้อัญเชิญเจ้าไชยเชษโฐหรือ เชษฐวังโส พระโอรสของพระเจ้าโพธิสาร ไปครองนครล้านนา เมื่อปีพ.ศ. ๒๐๘๙ พระเจ้าโพธิสารเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๐ ด้วยถูกช้างล้มทับขณะประพาสป่า ทรงกลับนครได้เพียง ๓ สัปดาห์ก็สวรรคต เมื่อสวรรคตแล้ว พระโอรสทั้งหลายต่างแย่งชิงราชสมบัติกัน อาณาจักรลาวได้แตกเป็น ๒ ฝ่าย คือ อาณาจักรฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้ พระเจ้าไชยเชษโฐแห่งล้านนา จึงยกทัพตีกรุงล้านช้าง และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดบุปผาราม เชียงใหม่ รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์ (พระสิงค์) และพระแก้วขาวไปด้วย เมื่อเสด็จถึงล้านช้าง ทรงยึดราชสมบัติจากเจ้าครองนครทั้งสองได้ ด้วยความเกรงกลัวของเจ้าครองนครทั้งสอง จึงทรงครองนครทั้งสองซึ่งเรียกว่า กรุงศรีสัตนาคตหุต พระองค์จึงขึ้นครองราชสมบัติ นับเป็นมหาราชองค์ที่ ๒ ของลาว ที่ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงพระนามว่า "พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช"พระพุทธศาสนาในยุคของพระเจ้าเชษฐาธิราช นับว่ามีความเจริญสูงสุด ทรงได้สร้างวัดสำคัญมากมาย ในกำแพงเมืองมีวัดอยู่ประมาณ ๑๒๐ วัด และยังได้สร้างวัดพระแก้ว ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต ที่นำมาจากเมืองเชียงใหม่ ในสมัยนี้ได้มีการแต่งวรรณกรรมหลายเรื่อง เช่น สังสินชัย การเกต พระลักพระราม เป็นต้น
สมัยนี้ราชอาณาจักรไทยได้มีความสัมพันธ์ลาวอย่างแน่นแฟ้น ได้ร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับพม่า ได้สร้างเจดีย์ "พระธาตุศรีสองรัก" ในอำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เพื่อเป็นอนุสรณ์ แห่งความเป็นพี่เป็นน้องกัน ของสองอาณาจักร พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ทรงย้ายเมืองหลวงจากเมืองเชียงคำมาอยู่ที่เวียงจันทน์ ได้ประดิษฐานพระแก้วมรกต และพระแซกคำ (พระพุทธสิหิงค์ หรือพระสิงค์) ไว้ที่เวียงจันทน์ เรียกว่าเวียงจันทน์ล้านช้าง ส่วนพระบางประดิษฐานไว้ที่เมืองเชียงทอง จึงได้ชื่อว่าหลวงพระบางมาจนถึงบัดนี้ บางครั้งก็เรียกชื่อว่าล้านช้างหลวงพระบาง และได้สร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตขึ้นเป็นพิเศษ พระองค์ได้ทรงสร้างพระธาตุหลวง ซึ่งถือเป็นสถาปัตยกรรมชิ้นยอดเยี่ยมของลาวเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๙ ซึ่งต่อมาได้ถูกพวกปล้นจากยูนานทำลายเสียหายไปมาก นอกจากพระองค์จะได้ทรงสร้างพระธาตุ อื่น ๆ และพระพุทธรูปสำคัญ ๆ อีกมากมาย เช่น
พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทน์ พระเจ้าองค์ตื้อ ที่อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย พระเสริม พระสุก พระใส พระอินทร์แปลง พระองค์แสน ทรงสร้างวัดพระธาตุ ที่จังหวัดหนองคาย และพระธาตุที่จมน้ำโขงอยู่ พระธาตุบังพวน อำเภอเมืองหนองคาย สร้างวัดศรีเมือง จังหวัดหนองคาย และพระประธานในโบสถ์ นามว่า พระไชยเชษฐา พระศรีโคตรบูร ที่แขวงคำม่วน พระธาตุอิรัง ที่แขวงสุวรรณเขต (สุวรรณเขต) พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และทรงปฏิสังขรณ์พระธาตุพนม เป็นต้น
พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงประคับประคองนำราชอาณาจักรล้านช้างผ่านพ้นภัยการเป็นเมืองขึ้นของพม่าไปได้ ตลอดรัชสมัยของพระองค์ แม้ว่าในขณะนั้นอาณาจักรล้านนา (เสียแก่พม่า พ.ศ. ๒๑๐๑) และอาณาจักรศรีอยุธยา (เสียแก่พม่า พ.ศ. ๒๑๐๗) ต้องตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าแล้ว แต่หลังจากพระองค์สวรรคตในปี พ.ศ. ๒๑๑๔ พอมาถึง พ.ศ. ๒๑๑๗-๒๑๑๘ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้ยกทัพมาตีลาวและได้รับชัยชนะ และทรงนำโอรสองค์เดียวของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชซึ่งประสูติในปีที่สวรรคต ไว้เป็นประกันที่หงสาวดีด้วย ต่อจากนั้นมาหลายปีแผ่นดินลาวก็วุ่นวายด้วยเรื่องราชสมบัติ จนพ.ศ. ๒๑๓๔ พระเถระเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ จึงได้ประชุมกันลงมติให้ส่งทูตไปเชิญเจ้าชายหน่อแก้วโกเมน ซึ่งเป็นตัวประกันอยู่ประเทศพม่ากลับมาครองราชย์ และในเวลานั้นพระเจ้าบุเรงนองสวรรคตลง พม่าเริ่มอ่อนแอลง และเจ้าหน่อแก้วโกเมนขึ้นครองราชย์สมบัติ พ.ศ. ๒๑๓๕ และประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับพม่าต่อไป พระเจ้าสุริยวงศาเป็นกษัตริย์ที่มีความปรีชาสามารถ และเข้มแข็ง สามารถปกครองให้ลาวสงบเรียบร้อยได้ ในสมัยนี้วัฒนธรรมรุ่งเรือง ศิลปกรรม ดนตรี ประติมากรรมต่าง ๆ เจริญแพร่หลาย หลังจากสิ้นราชกาลพระเจ้าสุริยวงศา ใน พ.ศ. ๒๒๓๕ อาณาจักรลาวได้แตกเป็น ๒ อาณาจักร คือ เมืองหลวงพระบาง กับ เมืองเวียงจันทน์ ทั้ง ๒ อาณาจักร ต่างระแวงกัน และคอยหาโอกาสแย่งชิงอำนาจกัน จนถึงกับไปผูกมิตรกับต่างประเทศเพื่อกำจัดกันและกัน เช่น ฝ่ายหนึ่งเข้ากับพม่า ฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย หรือฝ่ายหนึ่งเข้ากับไทย ฝ่ายหนึ่งเข้ากับญวน เป็นต้น จนในที่สุดเมื่อไทยสมัยพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นมิตรกับหลวงพระบางกู้เอกราชจากพม่าได้แล้ว ก็ยกทัพมาตีเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพันธมิตรของพม่า เข้ายึดครองได้ในพ.ศ.๒๓๒๑ และได้นำเอาพระแก้วมรกตไปยังอาณาจักรไทยด้วย อาณาจักรเวียงจันทน์ได้สลายตัวลงเป็นดินแดนของไทยใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ส่วนอาณาจักรหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองออกของไทยได้ส่งทูตไปอ่อนน้อม และมอบบรรณาการแก่เวียดนาม พ.ศ. ๒๓๗๔ กลายเป็นข้ออ้างของฝรั่งเศส ผู้เข้ายึดครองเวียดนามในสมัยต่อมา ที่จะเข้าครอบครองลาวต่อไปด้วย อาณาจักรลาวได้ตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสโดยลำดับ เริ่มแต่ พ.ศ. ๒๔๓๖ จนหมดสิ้นใน พ.ศ. ๒๔๔๗ ลาวถูกฝรั่งเศสครอบครองอยู่ ๔๕ ปี จึงได้เอกราชกลับคืนโดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๔๙๒ มีชื่อเป็นทางการว่า “พระราชอาณาจักรลาว” อิทธิพลของพุทธศาสนาต่อประเทศลาว
๑. ด้านสังคม
พระพุทธศาสนาได้ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นในสังคมชาวลาว พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานของวัฒนธรรมประเพณี ความคิด ความเชื่อของประชาชนลาว พิธีกรรมและวันสำคัญต่าง ๆ เช่น ประเพณีทำบุญธาตุหลวง เป็นประเพณีประจำชาติที่เชิดหน้าชูตาของประเทศลาว ด้านศิลปวัฒนธรรม ได้เกิดมีศิลปกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนามากมาย ล้วนมีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมเป็นอย่างมาก นอกจากนั้นพระพุทธศาสนายังมีบทบาทในการสงเคราะห์ช่วยเหลือประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่นในชุมชนต่าง ๆ พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของชุมชนในด้านให้คำปรึกษา ช่วยเหลือด้านการสงเคราะห์ปัจจัยสี่แก่ประชาชน วัดได้เป็นศูนย์กลางการพบปะของชาวบ้านและทางราชการ เป็นต้น
๒. ด้านการเมือง
พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างแยกไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศใด พุทธศาสนาในประเทศลาวนั้น เมื่อเสื่อมโทรมก็เนื่องจากได้รับการบีบคั้น ทำลายจากทางการเมือง เช่นในคราวที่ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการเมืองประเทศลาว ได้ทำการปฏิวัติใหม่ ได้ทำลายล้างสถาบันสำคัญของประเทศ ได้แก่สถาบันศาสนา และสถาบันกษัตริย์ มีพระสงฆ์ถูกฆ่าตายจำนวนมากมาย บางส่วนต้องลาสิกขาออกมาเพื่อเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ และเมื่อพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง ก็ได้รับการสนับสนุนจากทางการเมืองเช่นเดียวกัน ทั้งที่ปรากฏในอดีตและปัจจุบัน บทบาทของพุทธศาสนาในยุคคอมมิวนิสต์ครอบครอง ได้แก่การเอาพระสงฆ์เป็นเครื่องมือทางการเมือง เนื่องจากพระสงฆ์เป็นผู้ที่ประชาชนให้ความเคารพเชื่อถือ โดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขณะนั้นได้ให้พระสงฆ์เผยแผ่แนวคิดของลัทธิคอมมิวนิสต์ไปในขณะเทศบรรยาย ไดัจัดให้มีการปาฐกถาในที่ต่าง ๆ โดยมีพระสงฆ์ร่วมอยู่ด้วยในการเผยแผ่แนวคิดคอมมิวนิสต์นั้น ถูกบังคับให้ประยุกต์คำสอนทางพุทธศาสนาเข้ากับคำสอนของคอมมิวนิสต์ พระสงฆ์หลายรูปจำเป็นต้องทำตาม บางรูปขัดขืนก็จะถูกฆ่าตายอย่างโหดเหี้ยม ในปัจจุบันนี้ บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงบ พระพุทธศาสนาก็ได้รับการอุปถัมภ์จากรัฐเป็นอย่างดี มีการก่อตั้งสถาบันการศึกษาของสงฆ์ขึ้น เป็นวิทยาลัยสงฆ์ เช่นวิทยาลัยสงฆ์ประจำกรุงเวียงจันทน์ เป็นต้น
๓. ด้านเศรษฐกิจ
อิทธิพลพุทธศาสนาด้านเศรษฐกิจนั้น ด้านหลักธรรมที่ใช้ในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ความขยัน ประหยัด อดออมนั้น ดูจะไม่แตกต่างจากประเทศไทยนัก เพราะเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมประเพณีไม่แตกต่างกันนัก แต่ลักษณะของประเทศลาวปัจจุบันอยู่ในฐานะประเทศปิด ระบบเศรษฐกิจจึงเป็นการพึ่งพาตัวเองมากกว่าการพึ่งพาจากต่างประเทศ เศรษฐกิจส่วนใหญ่เป็นระบบเกษตรกรรม
เอกสารอ้างอิง
1.ชิตมโน. พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ. กรุงเทพฯ: มหามกุฎราชวิทยาลัย. ๒๕๓๓
2.ทรงวิทย์ แก้วศรี. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา เล่ม ๑๐ พระพุทธศาสนาในอินโดจีน . กรุงเทพฯ: การศาสนา. ๒๕๓๐.
3.พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) พระพุทธศาสนาในอาเซีย. กรุงเทพฯ: ธรรมสภา, ๒๕๔๐.
4.พระมหาอุทัย ธมฺมสาโร. พระพุทธศาสนาและโบราณคดีในเอเซีย. กรุงเทพฯ: เฟื่องอักษร. ๒๕๑๖.
5.พระราชธรรมนิเทศ,(ระแบบ ฐิตญาโณ). ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ. มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๓๖.
6.เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ เล่ม ๒ กรุงเทพฯ: มหามกุฏราชวิทยาลัย. ๒๕๓๕.

http://www.dmc.tv/forum/index.php?showtopic=3604 24 พ.ค. 53 16.36 น. พระจิตติเทพ ฌานวโร
พุทธศาสนาในประเทศลาว - DMC Forum
virojanaram

ศาสนาในประเทศลาว

ชาวลาวนับถือพุทธศาสนาประมาณร้อยละ ๕๐ นับถือผีและอื่น ๆ ประมาณร้อยละ ๕๐
นับแต่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยแผนใหม่ที่ยึดถือทฤษฎีมาร์กซ์ - เลนิน เป็นหลักในการวางรูปการปกครอง ศาสนาคริสต์ถูกกำจัดเป็นอันดับแรก
พุทธศาสนา ทางการยังไม่ค่อยกล้าเข้าไปแตะต้องอย่างชัดแจ้งนัก จึงได้ดำเนินนโยบายให้พระภิกษุสามเณรมีส่วนร่วม ในสังคมนิยมมากขึ้น การจัดงานบุญต่าง ๆ ต้องจัดอย่างง่าย ๆ จะทำใหญ่โตอย่างเดิมไม่ได้ เพราะจะเป็นการสิ้นเปลือง และเสียเวลาในการทำมาหากิน
ลาวมีวัดในพระพุทธศาสนาอยู่ทั่วประเทศประมาณ ๓,๐๐๐ วัด มีพระภิกษุสามเณรอยู่ประมาณ ๑๕,๐๐๐ รูป
ในปี พ.ศ.๒๕๒๒ ทางการลาวได้กำหนดนโยบายทางด้านศาสนาใหม่ที่สำคัญคือ
- จำกัดสิทธิและพิธีทางศาสนาให้เหลือน้อยที่สุด
- ในแต่ละเมืองให้มีวัดได้ไม่เกินสามวัด แต่ละวัดมีพระภิกษุสามเณรได้ไม่เกิน ๑๒ รูป
- การแสดงพระธรรมเทศนา ต้องมีสาระสำคัญ ทั้งตามนโยบายของรัฐ และตามจารีตประเพณีอย่างละเท่า ๆ กัน
- ห้ามพระภิกษุสามเณรรับจตุปัจจัยจากการประกอบพิธีทางศาสนา
คริสตศาสนา ฝรั่งเศสนำเข้าไปเผยแพร่สมัยที่ลาวตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ประชาชนลาวนับถือคริสตศาสนารองลงมาจากพุทธศาสนา เมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบคอมมิวนิสต์ คริสตศาสนาได้ถูกกำจัดเป็นอันดับแรกด้วยการขับไล่นักบวชในคริสตศาสนาออกนอกประเทศ โดยกล่าวหาว่า บาทหลวงเป็นพวกสายลับของประเทศจักรวรรดินิยม ต้องขจัดออกไป ส่วนโบสถ์ในคริสตศาสนาก็ใช้เป็นที่ทำการต่าง ๆ สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของคริสตศาสนาถูกรื้อถอน และทำลายหมด
ศาสนาและลัทธิอื่น ประชาชนลาวนับถือผีอยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในหมู่ชาวเขาเผ่าต่าง ๆ การนับถือผี และบรรพบุรุษของแต่ละเชื้อชาติ แตกต่างกันออกไปตามขนบธรรมเนียมประเพณี ที่สืบทอดกันมา และได้นำมาปะปนกันกับพุทธศาสนาอย่างแยกกันไม่ออก
ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ คณะปกครองได้ออกระเบียบ และวิธีปฎิบัติเกี่ยวกับสาสนา เพื่อบีบบังคับยิ่งขึ้นโดยกำหนดให้วัดต้องเสียภาษีให้รัฐวัดละ ๕๐ กีบต่อปี พระภิกษุสามเณรต้องเสียภาษีให้รัฐรูปละ ๑๐ กีบ ต่อเดือน ถาขัดขืนจะได้รับโทษถึงขั้นต้องลาสิกขา ทุกรูปต้องทำงานปลูกผักสวนครัว ไม่ส่งเสริมให้มีการบวชเพิ่มขึ้น ผู้ที่ต้องการบวชต้องขออนุญาตไปยังประธานเมือง ซึ่งคณะเมืองจะเป็นผู้พิจารณา
จารีตประเพณี
วัฒนธรรมจารีต ที่มีการปฎิบัติสืบต่อกันมา เรียกว่า ฮีตสิบสอง คองสิบสี่ ฮีตยี่คองเจียว ฮีตไภ้คองเชย ฮีตผัวคองเมีย
นอกจากบุญประเพณีสิบสองเดือน ที่ปรากฎในฮีตสิบสองแล้ว ชาวลาวยังมีการทำบุญอื่น ซึ่งนับว่าเป็นประเพณีของลาว คู่กับฮีตสิบสองคือ ประเพณีทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ประเพณีบุญกองบวชกองหด ประเพณีแต่งงาน (แต่งดอง) ประเพณีบายสีสู่ขวัญ ประเพณีบุญสู่วัวสู่ขวัญควาย ประเพณีวันกรรม (ออกลูก) ประเพณีวันเฮือนดี (ศพคนตาย) ประเพณีผิดผี ประเพณีข่วง (บ่าวสาวลงข่วง) ประเพณีเต้าข่วง (เลี้ยงผี) ประเพณีแฮกนาขวัญ ประเพณีเลี้ยงผีปู่ผีตา ประเพณีเลี้ยงผาตาแฮก และเลี้ยงผีปู่ตา

ที่มา ประเทศลาว 1: http://www1.tv5.co.th/service/mod/heritage/nation/neighbour/lao1.htm , , 24 พ.ค. 53, 17.42 น. พระจิตติเทพ ฌานวโร

virojanaram